ไม่เห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว ปัจจัยเสี่ยงรอบด้านทุบซ้ำ

11 สิงหาคม 2567
ไม่เห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว ปัจจัยเสี่ยงรอบด้านทุบซ้ำ

ไม่เห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว ปัจจัยเสี่ยงรอบด้านทุบซ้ำ : บทบรรณาธิการ ...หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4017

มีสัญญาณชัดถึงภาวะเศรษฐกิจไทย ที่ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า หลังจากได้เห็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างการส่งออกในเดือนมิถุนายน 2567 ลดลง 0.30% กลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 3 เดือน และอาจจะได้เห็นการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้

ขณะที่การบริโภคภายในประเทศ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังมีความน่ากังวล ตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ที่รายงานโดยเครดิตบูโรยังมีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสูงถึง 1.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีก่อน สะท้อนถึงการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง

 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 57.7 ลดลงจาก 58.9 ในเดือนมิถุนายน 2567 เป็นการปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับตํ่าสุดในรอบ 11 เดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เป็นต้นมา

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) สะท้อนถึง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนกรกฎาคม 2567 เท่ากับ 49.7 จากระดับ 52.3 ในเดือนก่อนหน้าเป็นการปรับลลงมาอยู่ในระดับไม่เชื่อมั่นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน นับตั้งแต่ธันวาคม 2565 ปัจจัยจากภาพรวมของเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ความตึงเครียดของสถานการณ์การค้าโลก และความต้องการซื้อภายในประเทศที่อ่อนตัวลง

รวมถึงความกังวลของประชาชนต่อภาระค่าครองชีพ ค่าไฟฟ้า ราคานํ้ามันเชื้อเพลิง รวมถึงภาระหนี้สินครัวเรือนและธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผับริโภคใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 54.8 จากระดับ 57.5

ส่วนภาคการผลิต สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานว่า ภาพรวม 6 เดือนแรกปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 97.83 หดตัวเฉลี่ย 2.01 % และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 59.11 % สะท้อนให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาขาดกำลังซื้อภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต

ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเปราะบาง จากความต้องการของผู้บริโภคลดลง สะท้อนจากยอดโอนอสังหาริมทรัพย์ ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้หดตัว 8.8% ยอดจำหน่ายรถยนต์ ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ หดตัวต่อเนื่องที่ 24% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน  

หลังจากนี้ไปเศรษฐกิจไทย จะต้องเจอกับความเสี่ยงที่ถาถมเข้ามาอีก จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าการสู้รบในตะวันออกกลางที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นรวมถึงการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังมีความยืดเยื้อ

อีกทั้ง ความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 โลก กำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) หลังจากมีการเปิดเผยถึงอัตราการว่างงานแตะระดับ 4.3% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 สะท้อนถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอย่างชัดเจน

จากปัจจัยที่กล่วมาทั้งหมด ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทย ในปีนี้ อาจจะไม่ได้เห็นตัวเลขการขยายตัวทางเศรฐกิจ ตามที่หลายสำนักคาดการณ์ไว้ และยังต้องมาลุ้นอีกว่าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้มากน้อยแค่ไหนด้วย...


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.